JavaScript must be enabled in order for you to see "WP Copy Data Protect" effect. However, it seems JavaScript is either disabled or not supported by your browser. To see full result of "WP Copy Data Protector", enable JavaScript by changing your browser options, then try again.

Thai SME Research

เปิดโลกธุรกิจ SMEs

ขับเคลื่อน SMEs ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital SMEs) ขับเคลื่อน SMEs ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital SMEs)
นายอาทิตย์  วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดศักราชการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยุคใหม่โชว์แนวคิด “ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)” ขานรับนโยบายยุคดิจิทัลอีโคโนมี ผ่าน 5 แผนงาน ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล (New Digital Entrepreneur) 2. SMEs อัจฉริยะ (Intelligence SMEs) 3. ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน... ขับเคลื่อน SMEs ด้วยเศรษฐกิจดิจิทัล (Digital SMEs)

นายอาทิตย์  วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดศักราชการส่งเสริมผู้ประกอบการอุตสาหกรรมยุคใหม่โชว์แนวคิด “ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs)” ขานรับนโยบายยุคดิจิทัลอีโคโนมี ผ่าน 5 แผนงาน ได้แก่ 1. ผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล (New Digital Entrepreneur) 2. SMEs อัจฉริยะ (Intelligence SMEs) 3. ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน (Digital OTOP) 4. สังคมแห่งการเรียนรู้ด้วยดิจิตอล (Digital Knowledge Society) และ 5. ที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) โดยการส่งเสริมพัฒนาผู้ประกอบการด้วยเทคโนโลยีดิจิทัลดังกล่าวจะส่งเสริมให้เกิดการจัดตั้ง (start up) ธุรกิจของผู้ประกอบการดิจิทัลรุ่นใหม่มารองรับระบบเศรษฐกิจดิจิทัลและจะเป็นประโยชน์กับผู้ประกอบการเดิมทั้งในด้านการบริหารจัดการ การเพิ่มประสิทธิภาพการผลิตการลดต้นทุนการประกอบการ การทำตลาดให้เข้าถึงผู้บริโภคได้กว้างขึ้นฯลฯ โดยตั้งเป้านำร่อง 5 แผนงานดังกล่าวไปสู่กลุ่มผู้ประกอบการ SMEs ในประเทศที่มีกว่า 2.76 ล้านราย พร้อมปรับงบประมาณจำนวน 100.45 ล้านบาท มาดำเนินการในเรื่องดังกล่าว

digital_economy58s

นายอาทิตย์ วุฒิคะโร อธิบดีกรมส่งเสริมอุตสาหกรรม เปิดเผยภายหลังการเข้ารับตำแหน่งใหม่ว่า กรมส่งเสริมอุตสาหกรรมเป็นหน่วยงานหลักในการส่งเสริมสนับสนุน พัฒนาอุตสาหกรรม วิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม วิสาหกิจชุมชนและผู้ประกอบการ ให้มีขีดความสามารถในการประกอบการที่เป็นเลิศ และมีความยั่งยืนสู่สากล โดยในปีงบประมาณ 2558  กสอ. ได้รับการจัดสรรงบประมาณ 1,266 ล้านบาท  แบ่งเป็นงบบริหาร 459 ล้านบาท (36%)  และเป็นงบปฏิบัติการที่ใช้ในการส่งเสริมพัฒนา SMEs และ OTOP รวม 807 ล้านบาท (64%) โดยมีแผนดำเนินโครงการต่างๆ ประกอบด้วย การเตรียมความพร้อมในภาคอุตสาหกรรมในการเข้าสู่ AEC 160.0 ล้านบาท, การพัฒนาอุตสาหกรรมแฟชั่นไทย 164.65 ล้านบาท, การพัฒนาอุตสาหกรรมเกษตรแปรรูปและอาหาร 42.25 ล้านบาท, การพัฒนาวิสาหกิจชุมชน (OTOP) 110.80 ล้านบาท, การเพิ่มผลิตภาพ SMEs 266.17 ล้านบาท,  การส่งเสริมอุตสาหกรรมในพื้นที่จังหวัดชายแดนภาคใต้ 28.10 ล้านบาท  และการพัฒนาปัจจัยสนับสนุนอื่นๆ 35.19 ล้านบาท

อย่างไรก็ตาม สืบเนื่องจากที่รัฐบาล ได้ให้ความสำคัญต่อเศรษฐกิจดิจิทัลโดยมุ่งเน้นการผลิตและการค้าผลิตภัณฑ์ดิจิทัล ตลอดจนการใช้ดิจิทัลรองรับการผลิตสินค้าอุตสาหกรรมและการพัฒนาเศรษฐกิจสร้างสรรค์  กสอ. จึงได้สนองนโยบายรัฐบาลในประเด็นดังกล่าวโดยนำดิจิทัลเข้ามาใช้เป็นเครื่องมือในการขับเคลื่อนผู้ประกอบการโดยเฉพาะอย่างยิ่งกลุ่ม SMEs ซึ่งส่วนใหญ่ยังไม่สามารถนำเทคโนโลยีสารสนเทศและการสื่อสาร หรือ ICT มาใช้ในธุรกิจได้  เนื่องจากขาดความรู้  ความเข้าใจ  และทักษะในการใช้ประโยชน์จาก ICT  ทั้งนี้ กสอ. ได้จัดสรรงบประมาณ 100.45 ล้านบาท มาใช้ในการพัฒนาผู้ประกอบการธุรกิจอุตสาหกรรมภายใต้กรอบแนวคิด ดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) ด้วยการปรับกิจกรรมโครงการต่างๆ ให้เหมาะสมกับการขับเคลื่อนเศรษฐกิจดิจิทัลอย่างเป็นระบบ 5 ด้าน ดังนี้

1. การสร้างผู้ประกอบการใหม่ด้านดิจิทัล (New Digital Entrepreneur) เป็นการให้ความรู้เพื่อเตรียมความพร้อมแก่ผู้ประกอบการธุรกิจ IT เช่น กลุ่มผู้เขียนApplication และเกมส์ต่างๆ บน Smartphone หรือ กลุ่มฟรีแลนซ์ทำ Animation/Graphic Design ต่างๆ ให้สามารถเริ่มต้นและดำเนินธุรกิจได้  โดยมีเป้าหมาย 500 คน รวมทั้งปรับหลักสูตร “โครงการเสริมสร้างผู้ประกอบการใหม่” (NEC)  ให้มีเนื้อหาหลักสูตรที่ทันสมัยและครอบคลุมความรู้ด้าน IT ให้มากขึ้นมีเป้าหมาย 1,000 คน

2. เอสเอ็มอีอัจฉริยะ (Intelligence SMEs) เป็นการนำ IT มาใช้เพิ่มประสิทธิภาพและผลิตภาพของธุรกิจSMEs ด้วยการใช้ระบบ Enterprise Resource Planning หรือ ERP ในการบริหารด้านต่าง ๆ การจัดการ Supply Chain และสต็อคสินค้า การเพิ่มศักยภาพทางการตลาดผ่านเครือข่ายอินเทอร์เน็ตและสังคมออนไลน์ รวมถึงการให้ทุนสมทบจ้างที่ปรึกษาปรับปรุงธุรกิจโดยนำเทคโนโลยีดิจิทัลเข้ามาใช้เพิ่มประสิทธิภาพมีเป้าหมายรวม 480 กิจการ

3. ดิจิทัลเพื่อวิสาหกิจชุมชน (Digital OTOP) โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ผลิตสินค้า OTOP ที่มีศักยภาพสามารถทำการตลาดด้วยสื่อดิจิตอลและสื่อออนไลน์ ผ่านกระบวนการอบรมและให้คำปรึกษาแนะนำในการใช้สื่อออนไลน์การจัดทำเว็บไซต์รูปแบบอีคอมเมิร์ซ และสื่อสังคมออนไลน์โดยกำหนดเป้าหมายที่กลุ่มรักษ์ภูมิปัญญาที่มีศักยภาพในการเข้าสู่ตลาดระดับสากลเพื่อนำเสนอวัฒนธรรม อัตลักษณ์และภูมิปัญญา ที่นำมาใช้สร้างสรรค์และออกแบบผลิตภัณฑ์ในเบื้องต้นอย่างน้อย 70 ผลิตภัณฑ์

4. การสร้างสังคมแห่งการเรียนรู้ดิจิทัล (Digital Knowledge Society)เป็นการสร้างเครือข่ายผู้ประกอบการ SMEs ที่สนใจและมีองค์ความรู้ในด้าน IT และการดำเนินธุรกิจกิจโดยใช้ประโยชน์จากสื่อดิจิทัลผ่านการแลกเปลี่ยนเรียนรู้ระหว่างกัน และการอบรมสัมมนาในหลักสูตร เช่น “Digital Marketing การตลาดแห่งอนาคต”และ “เปิดร้านออนไลน์แบบเข้าใจมีชัยแน่นอน”เป็นต้น  โดยมีเป้าหมายผู้ประกอบการในเครือข่าย 1,000 ราย

5. การพัฒนาที่ปรึกษาธุรกิจโลกไซเบอร์ (Cyber Service Provider) เป็นการอบรมพัฒนากลุ่มที่ปรึกษาธุรกิจจำนวน 60 คนให้เป็นผู้เชี่ยวชาญในเรื่องการดำเนินธุรกิจในโลกออนไลน์ โดยมีเนื้อหาการอบรมที่เน้นการประยุกต์ใช้ระบบ ERPการใช้อีคอมเมิร์ซ การทำตลาดออนไลน์ และโซเชียลมีเดีย ทั้งนี้ ที่ปรึกษาที่เข้าร่วมโครงการจะได้เรียนรู้ทั้งในด้านทฤษฎีและการฝึกปฏิบัติโดยการให้บริการปรึกษาแนะนำต่อ SMEs ด้วย

นอกจากการส่งเสริมผู้ประกอบการแล้ว กสอ. ยังมีแผนในการปรับปรุงระบบเครือข่ายเพื่อเชื่อมโยงหน่วยงานทั้งในส่วนกลางและส่วนภูมิภาค รวมถึงการปรับเปลี่ยนอุปกรณ์ IT เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการดำเนินงานและการให้บริการในด้านต่างๆ เช่น การรับสมัครเข้าร่วมการอบรมสัมมนาออนไลน์ การสมัครสมาชิก กสอ. ออนไลน์ ห้องสมุด e-library ของกรมฯ  เป็นต้น

ในการขับเคลื่อนดิจิทัลเอสเอ็มอี (Digital SMEs) ของกรมส่งเสริมอุตสาหกรรมในครั้งนี้  จะดำเนินการร่วมกับหน่วยงานเครือข่ายที่มีศักยภาพและมีความเชี่ยวชาญในเรื่องดิจิทัลเทคโนโลยี เช่น สำนักงานพัฒนาวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยีแห่งชาติ (สวทช.) สำนักงานส่งเสริมอุตสาหกรรมซอฟต์แวร์แห่งชาติ (SIPA) คณะเทคโนโลยีสารสนเทศของสถาบันการศึกษาต่างๆ ซึ่งคาดว่าจะช่วยให้ผู้คนสามารถเข้าสู่การประกอบธุรกิจได้ง่ายขึ้นโดยไม่จำเป็นต้องมีร้านค้า การทำธุรกรรมข้ามแดนจะมีปริมาณและมูลค่าสูงขึ้น การต่อยอดการผลิตและออกแบบผลิตภัณฑ์ให้ตรงตามความต้องการของผู้บริโภคจะทำได้อย่างกว้างขวางขึ้นและเข้าถึงได้ทั่วโลก ส่งผลให้เกิดการจ้างงานที่เพิ่มขึ้นและเกิดงานลักษณะใหม่ๆ อันเป็นผลจากการเกิดรูปแบบธุรกิจใหม่บนโลกอินเตอร์เน็ต การวิเคราะห์และจัดการข้อมูลได้อย่างรวดเร็ว การเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการ การลดต้นทุนการประกอบการ อีกทั้งจะเป็นปัจจัยเอื้อที่ส่งเสริมให้ประชาชนเข้าถึงการเรียนรู้ได้ง่ายและแพร่หลายขึ้นอันจะนำมาซึ่งการพัฒนาคุณภาพชีวิตของคนในสังคมด้วยนายอาทิตย์กล่าวสรุป

#smeresearch #sme #business #AEC #วิจัย #วิจัยตลาด

Source: กรมส่งเสริมอุตสาหกรรม

Comments

comments